"อบจ.เชียงใหม่" นำทีมจับมือจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมหลายภาคส่วนเซ็น MOU บูรณาการร่วม 13 หน่วยทั้งภาครัฐ - เอกชนและประชาสังคม ดันเชียงใหม่เป็นต้นแบบการจัดการต้นไม้ในเมือง ระดมฟื้นฟูเยียวยาต้นยางนา ถนนเชียงใหม่ - ลำพูน เป็นต้นแบบ
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณวัดสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย 13 องค์กร ร่วมในพิธีเปิด "โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูยางนา" ถนนเชียงใหม่- ลำพูน ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงามร่มรื่นของต้นยางนา ตลอดแนวถนนเชียงใหม่- ลำพูน โดยการจัดงานในครั้งนี้ ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมกันฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพของต้นยางนา 300 ต้น ตลอดแนวถนนดังกล่าวโดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมประกอบไปด้วยจังหวัดเชียงใหม่, องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่, เครือข่ายต้นไม้ในเมือง, สมาคมยางนาขี้เหล็กสยาม, เทศบาลนครเชียงใหม่, เทศบาลตำบลหนองหอย, เทศบาลตำบลยางเนิ้ง, เทศบาลตำบลหนองผึ้งและเทศบาลตำบลสารภี ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อพัฒนามาตรฐานด้านการดูแลต้นไม้ด้วยศาสตร์รุกขกรรม ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยการจัดฝึกอบรมยกระดับมาตรฐานวิชาชีพรุกขกรรมให้กับบุคลากร พร้อมปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้เกิดความสอดประสานกับหน่วยงานอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับพัฒนาองค์ความรู้ด้วยงานวิชาการและการออกแบบการติดตามประเมินผลทั้งระบบเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่นๆของประเทศไทย โดยตั้งเป้าผลักดันเชียงใหม่ เป็นโมเดลต้นแบบของประเทศไทยในเวลา 2 ปี ให้เกิดเป็นโมเดลและระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองต่อไปในอนาคต
นายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงานตามที่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ได้ประสบปัญหาความทรุดโทรมของต้นยางนา และได้พยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจสุขภาพโดยรวมของต้นยางนา จำนวน 900 ต้น (ข้อมูล ปี 2562) แบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 3 สี ตามระดับของปัญหา สีแดงคือ ต้นยางนาที่มีสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างมากต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน จำนวนประมาณ 300 ต้น ,สีส้ม คือ ต้นยางนาที่มีสุขภาพที่ทรุดโทรมต้องได้รับการดูแลภายใน 1 - 2 ปี จำนวนประมาณ 300 ต้น และสีเขียว คือต้นยางนาที่มีสุขภาพดีพอสมควรสามารถจัดการดูแลได้ในระยะยาวได้ จำนวนประมาณ 300 ต้น แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เมื่อเกิดกรณีเจอปัญหาพายุฤดูร้อน ทำให้เกิดอาการหัก โค่น ล้ม ของกิ่ง และต้นยางนาบางส่วน จนก่อให้เกิดเป็นอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับต้นยางนาและ ผู้สัญจรไปมาบนถนนสายดังกล่าว
เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบต้นยางนา บนถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ครอบคลุมกิจกรรมการตัดแต่ง ฟื้นฟู รักษา ตั้งแต่ระบบราก ลำต้น โคนต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษา และภาคประชาชน จำนวน 13 หน่วยงาน
กิจกรรมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับการฟื้นฟูเยียวยา ต้นยางนา ถนนเชียงใหม่ - ลำพูน ตามหลักรุกขกรรม อาทิ การฝึกอบรมบุคลากรการปฏิบัติงาน งานวิชาการ การติดตามประเมินผลทั้งระบบ ให้เป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชน และให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้สร้างมาตรฐานและพัฒนางานด้านรุกขกรของ จังหวัดเชียงใหม่
โดยนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานกล่าวเปิดงานว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ต้นยางนาบนถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ในวันนี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน และผมขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันพิจารณาร่วมกันทุกสาขาวิชาในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ต้นยางนาบนถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ซึ่งมีต้นยางนาที่ปลูกไว้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ตลอดสองข้างทางนั้น และจากการกล่าวรายงาน จะเห็นได้ว่าสุขภาพของต้นยางนาบนถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ได้รับการคุกคาม จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายพื้นที่เขตเมืองได้ขยายวงกว้างออกไปในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนอายุของต้นยางนาที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และประกอบกับการบริหารจัดการ การดูแลต้นยางนา ที่ผ่านมาส่งผลให้ต้นยางนามีสุขภาพที่ทรุดโทรมลงอย่างมาก และต้องได้รับการดูแล อย่างเร่งด่วนจำนวน 100 ต้นนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านการเสื่อมโทรมของสุขภาพของต้นยางนาและการเป็นพัฒนาการอนุรักษ์ ฟื้นฟูต้นยางนาอย่างยั่งยืน
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการตัดแต่ง ฟื้นฟู รักษา ตั้งแต่ระบบราก ลำต้น โคนต้นของต้นยางนา เพื่อให้ต้นยางนาดังกล่าวยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และภูมิทัศน์ที่สวยงามอย่างยั่งยืน เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เคียงคู่กับ จังหวัดเชียงใหม่ตลอดไป ในนามของจังหวัดเชียงใหม่ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาแสดงความพร้อมและความตั้งใจในการมาร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ต้นยางนาบนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน
ซึ่งหลังจากพิธีลงนามเซ็น MOU บูรณาการร่วมทำงาน 13 หน่วยทั้งภาครัฐเอกชนและประชาสังคม ได้มีการสาธิตการตัดแต่งต้นยางนาด้วย "รุกขกร" โดยในต้นปี 63 จะมีการจัดการวิ่งการกุศลเพื่อระดมทุนมาร่วมกับทุนของทางภาครัฐในการพัฒนาและฟื้นฟูสุขภาพของต้นยางนาอย่างยั่งยืนและปลอดภัย.
/////////// นิวัตร ธาตุอินจันทร์ /เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น